รามเกียรติ์

รามเกียรติ์ 



     
รามเกียรติ์ มิใช่วรรณกรรมท้องถิ่นดั้งเดิมของไทย หรือของดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หากแต่มีที่มาจาก “รามายณะ” ของอินเดีย ซึ่งจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี ดินแดนแถบนี้ได้มีการติดต่อกับชาวอินเดีย ราวพุทธศตวรรษที่ ๗ – ๘ เนื่องจากดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีสินค้าที่ชาวอินเดียต้องการ คือ เครื่องเทศ ยางไม้หอม และไม้หอม เป็นต้น การติดต่อค้าขายนี้มีผลพวงที่ตามมา คือการติดต่อเผยแพร่ทางอารยธรรม มีทั้งที่ชาวอินเดียเป็นผู้นำมาเผยแพร่โดยตรง รับผ่านจากประเทศข้างเคียง และจากการที่คนในดินแดนนี้เดินทางไปศึกษาในอินเดีย และรับเอาอารยธรรม ความรู้ และตำราต่างๆ มาเผยแพร่
รามายณะ เริ่มเข้าสู่ประเทศไทยเมื่อใดไม่มีหลักฐานปรากฏแน่ชัด แต่เข้าใจว่าพ่อค้าชาวอินเดียคงเป็นผู้นำมาเผยแพร่ในไทย แต่แรกคงมาในรูปแบบของการถ่ายทอดทางมุขปาฐะ คือเป็นการเล่า “นิทานเรื่องพระราม” และต่อมาจึงได้จดจารลงเป็นวรรณกรรมของไทย ซึ่งการจดจารนี้มิใช่เป็นการคัดลอก แต่เป็นการประพันธ์ขึ้นใหม่ตามฉันทลักษณ์ร้องกรองไทย และเมื่อพิจารณาเปรียบเทียบเนื้อเรื่องของรามเกียรติ์กับรามายณะแล้ว พบว่ารามเกียรติ์ของไทยมีรายละเอียดเนื้อหาไม่ตรงกับรามายณะฉบับหนึ่งฉบับใดโดยเฉพาะ แต่มีความพ้องกับรามายณะของอินเดียหลายฉบับ และมีบางส่วนพ้องกับรามายณะของประเทศเพื่อนบ้าน เข้าใจได้ว่ารามเกียรติ์ของไทยคงมิได้ถ่ายทอดจากรามายณะฉบับใดโดยตรง หากแต่ประมวลเอาเนื้อเรื่องจากสำนวนต่างๆ โดยคัดเลือกในส่วนที่เหมาะสมกับวัฒนธรรม อุปนิสัยและวิสัยทัศน์ของคนไทย



ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ภาษาไทย